วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การเดินทางสู่สาย Network Part II


ส่วนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะเป็นส่วนข้อแนะนำในการเดินทางไปยังเป้าหมายของ  Networker นะครับ สิ่งที่จะแนะนำนี้ บางคนก็อาจทำตามไม่ได้ บางคนก็อาจทำตามได้ ทั้งนี้นอกจากจะขึ้นกับความตั้งใจแล้วอาจต้องขึ้นอยู่กับดวงของแต่ละคนด้วย (แต่บางทีเราก็พอจะเลือกเส้นทางเดินได้) จากครั้งที่แล้วผมแยกคนออกเป็นกลุ่มต่างๆ ในที่นี้ผมจะขอเสนอข้อแนะนำของคนที่อยากจะเป็น Networker ไว้พอเป็นแนวทางนะครับ

ภาษาอังกฤษ
   ภาษาอังกฤษคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ Networker เพราะในระดับกลางถึงสูง จะไม่มีหนังสือภาษาไทยให้อ่าน ถ้าหากเราไม่สามารถพัฒนาตัวเองจนสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้คล่องแล้วล่ะก็ การที่จะก้าวขึ้นเป็น Networker ระดับสูงได้นั้น เป็นเรื่องที่แทบจะพูดได้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ (ไม่ใช่แค่โอกาสน้อยนะครับ) ดังนั้นขอเน้นย้ำเรื่องนี้ ขอให้เป็นข้อปฏิบัติข้อแรกเลยนะครับในการเริ่มต้นก้าวเดิน ส่วนวิธีการพัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเองนั้นผมขออ้างถึงจากครั้งที่แล้วที่เขียนไว้ตามนี้นะครับ

   - จงลืมความรู้สึกเกลียดการอ่านภาษาอังกฤษซะ แล้วจงตั้งหน้าตั้งตาอ่านและเปิด dict ให้มากที่สุด ใช่ฟังดู พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็ใช่อีกนั่นหล่ะที่ว่า แล้วมีใครล่ะที่บอกว่าการจะก้าวขึ้นมาเป็นมือโปรได้นั้นเป็นเรื่องง่ายๆ คนที่อยากจะข้ามแม่น้ำแต่ไม่กล้าที่จะเปียก แล้วเมื่อไหร่จะว่ายข้ามมาอีกฝั่งได้ ถ้าอยากจะข้ามมาอีกฝั่ง ก็ต้องเลิกกลัวที่จะเปียก แล้วจงตั้งหน้าตั้งตาว่ายข้ามมาซะ 
   - ทุกครั้งที่เปิด dict ให้จดคำศัพท์ไว้ในสมุดจดเล่มเล็กๆ แล้วพกติดตัวตลอด ว่างเมื่อไหร่ก็เอามาท่อง แต่ข้อสำคัญมากๆที่ต้องตั้งเป็นกฏคือ ภายในวันหนึ่งต้องท่องให้ได้ไม่ต่ำกว่า 25 คำ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณไม่มีกฏของตัวเอง คุณก็จะท่องแค่วันละห้าคำ และสุดท้ายก็ขี้เกียจไม่ท่อง ผมเคยท่องสูงสุดถึงวันละ 250 คำ รวมคำศัพท์ทั้งหมดที่ท่องกว่าหมื่นคำ ทำอย่างนี้อยู่กว่า หกเดือน บอกได้คำเดียวว่า big improvement อย่าลืมข้อสำคัญ กฏคือกฏ ตั้งโปรแกรมใส่สมองไว้ เช่นวันละ 25 คำ ไม่ว่าฟ้าจะถล่มดินจะทลายวันนี้ก็ต้องท่องให้ได้ 25 คำ
   - ไปหาซื้อนิตยสาร future มาอ่านซะ เล่มละ 20 (ไม่รู้ว่าขึ้นราคาหรือยัง) ในนี้จะเป็นเนื้อหาภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลตลอดทั้งเล่ม เขาออกทุกๆสองสัปดาห์ แล้วให้บังคับตัวเองว่าต้องอ่านทุกหัวข้อในเล่มนั้นให้จบให้ได้ภายในสองสัปดาห์ เพราะมันจะออกเล่มใหม่ออกมา ทุกครั้งเมื่อเจอศัพท์ใหม่ก็ให้จดไว้ท่อง นิตยสารเล่มนี้ช่วยให้ผมได้รู้ศัพท์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นเยอะมาก อยากแนะนำให้ลองดู

   สำหรับคอร์สเรียนภาษาอังกฤษตามที่ต่างๆนั้น ถ้าสามารถเรียนเพิ่มได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ผมมองว่ามันไม่จำเป็นเสมอไป เพราะใน text book ที่เป็นเนื้อหาทางด้านเทคโนโลยีนั้น ไม่ได้ใช้ grammar ที่ซับซ้อนอะไรนัก และก็ใช้ Grammar อยู่ไม่กี่แบบ ถ้าหากเราอ่านภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆ แล้วสงสัยเรื่อง grammar ผมแนะนำให้ไปหาซื้อหนังสือ Grammar มาไว้เล่มนึงเล่มไหนก็ได้ เพราะไม่แตกต่างกันมากนัก เมื่อสงสัยในรูปประโยคก็ให้เปิดอ่านดู พอทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะพบว่ารูปแบบ grammar จะเริ่มซ้ำๆกัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าไม่ค่อยรู้เรื่อง grammar แล้วจะทำให้อ่าน text book ไม่ได้ การเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่ดี ถ้าไม่ขัดสนเรื่องค่าเรียนผมก็แนะนำให้เรียน แต่ถ้ายังไม่อยากจ่ายเพิ่มก็จะบอกว่าไม่เป็นไรไม่ต้องห่วง ขยันอ่านไปเรื่อยๆ เปิดdictบ่อยๆ เดี๋ยวก็ได้เองครับ จากนี้ไปผมจะเริ่มเข้าส่วนของnetworkแล้วนะครับ

เริ่มจากพื้นฐาน
   การจะเป็น Networker ที่ดีจะต้องมีพื้นฐานที่แน่น(มากๆ) ทั้งนี้เป็นเพราะว่า Networking technology นั้นพัฒนาไปเร็วมาก และมีความจำเป็นต่อระบบแทบจะทุกระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่า OS อย่างพวก DOS, windows 3.1 ก็ยังเป็นแค่ OS ธรรมดา แต่ปัจจุบัน ตั้งแต่ 98, ME, 2000, XP, Longhorn ล้วนแล้วแต่มีส่วนประกอบของความเป็น Networking มากขึ้นเรื่อยๆ การที่จะเข้าใจในเทคโนโลยีที่พัฒนาเร็วได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพื้นฐาน ไม่ใช่การพยายามทำความเข้าใจการทำงานเทคโนโลยีใหม่ๆทั้งหมด (สังเกตุว่าผมไม่ได้ใช้คำว่า เปลี่ยนไปเร็วนะครับ แต่ผมใช้คำว่า พัฒนา ไปเร็ว เพราะnetworking technology ใหม่ๆมักจะยังคงใช้พื้นฐานเดิมอยู่ตลอด) ในชีวิตการทำงานของพวกมือโปรนั้น เขาจะเจอเทคโนโลยี เจอโปรโตคอลใหม่ๆอยู่ตลอด ยิ่งทำงานในระดับสูงขึ้นก็จะยิ่งเจอตัวประหลาดๆมากขึ้น และเราไม่มีเวลามานั่งอ่านนั่งศึกษามันก่อนที่เราจะเริ่มงานได้หรอกครับ จากที่ผมประสบมา บ่อยครั้งที่ผมมีเวลาให้เรียนรู้และทำความเข้าใจการทำงานของหลายๆเรื่องที่ใหม่สำหรับผมเพียงแค่ 2-3 นาที !!! เมื่อต้องเริ่มคุยกับพวก Vendor หรือพวก network designer หลายๆครั้ง  เราต้องฟังเขาพูด และคุยกับเขาและพยายามมองให้ออกและเข้าใจมันให้ได้ว่ามันทำงานอย่างไร ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ผมก็ทำมาหลายครั้งแล้ว แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะผมที่ทำแบบนี้ พวกฝรั่งที่ผมเจอมาก็เหมือนกัน เพราะบางครั้งผมจะเอาสิ่งที่ผมเคยทำมามาapplyกับงานซึ่งผมก็รู้ว่าเรื่องแบบนี้เขาไม่รู้มาก่อนแน่นอน แต่แค่คุยไปซักพัก เราก็จูนกันได้ ที่เล่าให้ฟัง อย่าพึ่งนึกหมั่นไส้ผมนะครับว่าโม้หรือเปล่า แค่อยากจะเล่าให้เห็นถึงปลายทางว่า คนที่อยากเป็น Networker จริงๆ ต้องทำให้ได้ขนาดนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับตัวคุณเองได้ก็ต่อเมื่อพื้นฐานคุณต้องแน่นมากๆ เท่านั้น

แล้วทำอย่างไรถึงจะมีพื้นฐานแน่น
   เริ่มจากหาหนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับ Networking มาอ่านก่อน ผมแนะนำเล่ม เปิดโลก TCP/IP เล่มนี้มีมานานแล้ว คิดว่าน่าจะมีเวอร์ชั่นใหม่ออกมาบ้าง เล่มนี้ตอนที่ผมเริ่มอ่าน ผมอ่านไปอ่านมา ประมาณสามรอบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอ่านจบรอบแรกแล้วอ่านรอบสองต่อเลยนะครับ พอผมอ่านจบรอบแรก ผมก็ไปอ่านเรื่องอื่นในหนังสือเล่มอื่นต่อ แล้วพอมีข้อสงสัยก็เลยกลับมาดูเล่มนี้อีกที ก็พบว่ามีบางอย่างเป็นรายละเอียดที่เราเคยอ่านผ่านไปแล้ว แต่ตอนนั้นไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ ก็เลยเริ่มอ่านอีกรอบเป็นรอบที่สอง ปรากฏว่าเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น ก็ยังงงเหมือนกันว่าตอนอ่านรอบแรกไม่เห็นจะเข้าใจอย่างนี้เลย พออ่านจบ ก็ไปหาอย่างอื่นอ่านต่ออีก อ่านไปอ่านมาก็มีหลายเรื่องในรายละเอียดที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็ย้อนกลับมาเล่มเดิม สุดท้ายก็อ่านมันอีกรอบ คราวนี้กลายเป็นว่าเก็บรายละเอียดได้แทบจะทั้งหมดเลย จะเห็นว่าการอ่านหนังสือใดๆก็แล้วแต่ โดยปกติการอ่านรอบแรกมันไม่ได้ทำให้เราเข้าใจทั้งหมดของมันได้ ถึงแม้บางคนจะบอกว่าอ่านแล้วเข้าใจ แต่เขาก็ไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบทั้งหมดอยู่ดี และโดยปกติคนเรามักจะมองว่าเมื่อเล่มนี้อ่านผ่านไปแล้ว ก็ขี้เกียจมาอ่านซ้ำ สิ่งเหล่านี้สามารถโยงไปถึงประโยคที่ว่าการจะทำให้พื้นฐานแน่นได้อย่างไรคือ จะต้องมีนิสัยไม่มองข้ามและดูแคลนสิ่งที่เราเคยรู้ว่า เราเคยผ่าน เคยอ่านมาแล้ว จนทำให้เกิดความคิดว่าไม่จำเป็นต้องทวนอีกรอบ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องพื้นฐานแค่ไหน หากเราได้มีโอกาสทบทวนมัน เราก็จะเจอสิ่งเล็กๆน้อยๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ได้ถูกบรรยายโดยตรงผ่านตัวอักษรปรากฏให้เราเข้าใจได้ ซึ่งสิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้แหละที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของคำว่าพื้นฐานแน่น ผมไม่ได้บอกว่านะครับว่าเวลาคุณอ่านหนังสืออะไรก็แล้วแต่ ต้องอ่านมันสองสามรอบเสมอ ถ้าสังเกตุให้ดีการอ่านรอบสองรอบสามของผมนั้นเกิดจากการที่ผมไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมไปเจอมาใหม่แต่เกี่ยวกับเรื่องที่เคยอ่านมาแล้ว ผมก็เลยย้อนกลับไปอ่านอีกรอบ ซึ่งจริงๆมันไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องย้อนกลับมาอ่านอีกรอบ ใจความสำคัญคือ ต้องบอกตัวเองเสมอว่าเรายังไม่รู้เรื่องที่เราเคยรู้มาทั้งหมดอยู่เสมอ ถ้าหากมีโอกาสเราเจอมันอีกรอบก็ควรลองอ่านมันอีกรอบดู เช่นถ้าเราไปเจอคนเขียนเรื่อง OSI 7 layer ก็ไม่ควรมองว่าเคยรู้แล้วก็ไม่น่าสนใจ ผมเองเจอหลายครั้งเหมือนกันที่คนที่เขียนถึงเรื่อง OSI เขียนออกมาในมุมมองที่ต่างกัน ทำให้พออ่านไปก็เห็นภาพมากขึ้นๆ ในตัวอย่างของผมจะเห็นว่าแม้แต่เรื่อง OSI 7 layer เอง ตัวผมก็อ่านหลายๆรอบจากหลายๆที่ ที่ผมไปเจอมาเช่นกัน 
1.   เปิดโลก TCP/IP และโปรโตคอลของอินเตอร์เน็ต
2.   เจาะระบบ TCP/IP จุดอ่อนของโปรโตคอลและวิธีป้องกัน
เอาแค่สองเล่มนี้ถ้าคุณอ่านจนพรุนก็ถือว่ารู้ขึ้นเยอะมากแล้วครับ แต่ขอแนะนำให้อ่านเล่มที่หนึ่งก่อนจนเข้าใจแล้วค่อยเริ่มต่อเล่มที่สอง  สองเล่มที่กล่าวถึงเป็นการเน้นเรื่องทฤษฏีเป็นหลัก เล่มที่สามที่อยากจะแนะนำคือ เรียนรู้ระบบเน็ตเวิร์กจากอุปกรณ์ของ CISCO ภาคปฏิบัติ เล่มนี้ผมเองยังไม่ได้มีโอกาสอ่านในรายละเอียด แต่ได้มีโอกาสเปิดอ่านดูคร่าวๆในร้านหนังสือ ดูแล้วคิดว่าเป็นหนังสือที่ดีอีกเล่มหนึ่ง เพราะสามารถที่จะเชื่อมโยงเรื่องของทฤษฏีกับปฏิบติเข้าด้วยกันได้ สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองยังใหม่อยู่ เนื้อหายังไม่คล่องมากนัก ก็ขอแนะนำว่าอย่าพึ่งรีบอ่านเล่มนี้ ให้ย้อนกลับไปอ่านสองเล่มแรกนั้นก่อน ถ้าทฤษฏีเรายังไม่แน่นพอแล้วไปอ่านเล่มปฏิบัติ เราจะงงได้ เพราะพอพื้นไม่แน่นแล้วเขาพาลงcommmandใช้งาน เราก็จะงง ไม่รู้ว่าผลของcommandแต่ละตัวมีไว้เพื่ออะไร ทำไมเราต้องสั่งแบบนี้ เราคาดหวังว่ามันจะตอบสนองเราอย่างไรเมื่อสั่งแบบนี้แบบนั้น พอเริ่มเกิดอาการนี้ก็จะเริ่มทำให้เราเขวได้ สับสนและงงไปในที่สุด จับต้นชนปลายไม่ถูก แต่ถ้าคนที่คิดว่ามีพื้นมาบ้างพอสมควรแล้วก็อาจเริ่มที่เล่มนี้เลยก็ได้ ในช่วงที่อ่านเล่มนี้ก็แนะนำให้ไปหา simulator ในระดับ ccna มาเล่นตามไปด้วย ก็จะทำให้คล่องขึ้น การเล่น simulator นั้นต้องพึงระลึกไว้อย่างหนึ่งว่ามันไม่ใช่ router จริง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีครบทุกคำสั่งให้เราเล่น และrespond message ของมันก็เป็นแค่การจำลองขึ้นมา มันอาจจะไม่เหมือน router จริงในหลายๆครั้ง ก็ต้องทำใจในระดับหนึ่งนะครับ หลังจากจบเล่มนี้ คราวนี้ผมแนะนำว่าให้เตรียมสอบ ccna ได้แล้ว

วิธีการเตรียมตัวสอบ ccna 

ให้ไปซื้อหนังสือ cisco press ccna มา ชุดหนึ่งมีสองเล่มราคาลดแล้วประมาณ 1,800 บาท หรือไม่ก็ใช้วิธี download จาก internet ซึ่งไม่น่าจะหายากนัก ถ้าไม่รู้จะเริ่มที่ไหนก็ไปที่ www.net130.com ก่อนก็ได้ ที่นี่จะมี cisco material เยอะมาก เมื่อได้มาแล้วแนะนำให้ print ออกมาอ่านจะดีกว่า โดยปกติการอ่านจากกระดาษจะทำให้จำเนื้อหาได้ง่ายกว่าอ่านจากcom เพราะมันจดได้วาดรูปได้ คราวนี้เราจะต้องอ่านtext book เพื่อเก็บรายละเอียดไว้ให้ได้มากที่สุด จากประสบการณ์การสอบ cert ของผม ในบรรดา cert ที่ผมผ่านมาทั้งหมด ผมถือว่า ccna เป็น cert ที่สำคัญที่สุดสำหรับผม บางคนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันมากนัก แล้วสอบได้ ccna มาง่ายเกินไป ผมก็บอกได้เลยว่าคุณกำลังพลาดสิ่งดีๆไป เพราะคนที่ได้ ccna มาแล้ว น้อยมากที่จะยอมย้อนกลับมาอ่านเนื้อหาพื้นฐานระดับ ccna อีกรอบ ผมอยากให้พยายามเน้นให้มากที่สุดสำหรับ ccna อ่านเนื้อหาและจดลงไปในกระดาษหรือหนังสือให้มากที่สุด ยิ่งคุณทำให้หนังสือคุณเยินได้มากเท่าไหร่ คุณก็จะได้ความรู้มากเท่านั้น ยิ่งหนังสือคุณขาวสะอาดมากเท่าไหร่คุณก็ยิ่งเสียเวลาไปเปล่าประโยชน์กับการอ่านมากเท่านั้น เมื่ออ่านจบแต่ละบทอย่าลืมย้อนกลับไปทำแบบฝึกหัดท้ายบทเสมอ และที่สำคัญฝึกปฏิบัติด้วย จะด้วย router จริงหรือ simulator ก็ได้ จากนั้นให้ download testking มาอ่าน วิธีอ่านคือ ให้ทำข้อสอบทีละข้อพอตอบแล้ว ก็ให้ดูเฉลยของแต่ละข้อเลย ถ้าข้อไหนตอบผิดก็ให้จดเลขข้อนั้นไว้ จากนั้นก็ให้อ่านเฉลยและทำความเข้าใจว่าเราตอบผิดได้อย่างไร อะไรคือความเข้าใจผิดของเราที่ทำให้ตอบผิด ในกรณีที่บางข้อไม่มีเฉลย ก็ต้องเข้า google แล้วค้นหาดู ซึ่งคิดว่าน่าจะพอหาได้ไม่ยาก พูดถึง google อยากบอกว่า networker ที่ดีจะต้องฝึกใช้ google ให้คล่องเพื่อใช้หาข้อมูลให้เก่งนะครับ กลับมาที่การอ่าน testking ให้ทำอย่างที่แนะนำไปจนจบรอบแรก จากนั้นให้เริ่มรอบสอง แต่คราวนี้ให้ทำเฉพาะข้อที่เคยตอบผิด คราวนี้ทุกข้อที่เราตอบ เราจะต้องอธิบายในใจเราเองได้ว่าทำไมเราถึงตอบข้อนี้ (ซึ่งเราเข้าใจจากการพยายามทำความเข้าใจกับเฉลยมาแล้วในรอบแรก) ถ้าเรายังตอบโดยแค่จำได้ว่าถ้าจะให้ถูกต้องตอบข้อนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้จดเลขข้อนั้นไว้เพราะถือว่าไม่ผ่าน แล้วก็อ่านเฉลยและพยายามทำความเข้าใจอีกทีให้ได้ วิธีแบบนี้ เราไม่สามารถโกหกตัวเราเองได้ เราจะจำเอาหรือจะเข้าใจเอา เรารู้ตัวเราเองดีที่สุด ให้ทำอย่างนี้วนรอบจนกว่าจะถึงรอบสามรอบสี่จนกว่าจะเคลียร์ได้ครบทุกข้อแล้ว คราวนี้ทำรอบสุดท้าย ทั้งหมดใหม่อีกรอบ คราวนี้เราควรตอบได้ถูกไม่ต่ำกว่า 85% บางคนอาจจะแย้งในใจว่าการใช้ testking ไม่ดี ผมก็จะตอบว่ามันขึ้นกับการใช้ต่างหากว่าใช้เป็นหรือไม่ สมมุติว่าเราทำมาถึงขั้นนี้แล้ว ผมจะบอกว่าการเดินเข้าห้องสอบเพิ่มอีกแค่สามชั่วโมงไม่ได้ทำให้ความรู้เราเพิ่มขึ้นหรือแย่ลงเพราะเราอ่าน testking ก่อนเข้าห้องสอบ พอเดินออกมาจากห้องสอบยังไงสามชั่วโมงผ่านไป ความรู้ก็เท่าๆเดิมนั่นแหละกับก่อนเข้าห้องสอบ ต่างกันแค่จะมี cert ติดมือออกมาด้วยหรือเปล่าแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดติดว่ามันคือ testking เลยนะครับ ขออย่างเดียวใช้มันให้เป็นเป็นสำคัญ ลองนึกดูว่าถ้าเราใช้ testkingเพื่อเป็นแบบฝึกหัดตามที่ผมแนะนำจนครบทุกรอบแล้ว แล้วเราเปลี่ยนใจไม่ไปสอบ ถามว่าการอ่าน testking เป็นเรื่องไม่ดีหรือไม่ ทุกคนน่าจะมองเหมือนกันว่า testking กลายเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันมีแบบฝึกหัดให้ทำกว่าหกร้อยข้อ เห็นไหมว่าคำว่า testking นั้นมันไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่เหมือนในความคิดของหลายๆคนเลยนะครับ ขอให้ใช้ให้เป็นเป็นพอ 

ถ้าใครไม่ได้รีบร้อนอะไรว่าบริษัทบังคับต้องได้ ccna ภายใน สองเดือนนี้ ผมแนะนำให้ใช้เวลาเตรียมตัว อ่านหนังสือจนสอบได้ cert ccna มารวมกันไม่ต่ำกว่าหกเดือน โดยที่ภายในหกเดือนนี้ ไม่ใช่เอ้อระเหยลอยชายไปเรื่อยๆนะครับ คุณต้องขยันอ่านหนังสือทุกๆวัน วันละไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง ขอให้พยายามเน้นให้มากๆกับการได้ ccna มาแล้ว สิ่งนี้จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในการก้าวไปในอนาคตข้างหน้าของ Networker

พอมาถึงจุดนี้ถ้าคุณสามารถทำตามที่ผมแนะนำมาได้ทั้งหมด ผมการันตีได้เลยว่า ccna ที่คุณได้มานั้น แน่นพอในระดับหนึ่งแล้วล่ะครับ

   จากที่กล่าวมาถือว่าเป็น step แรกของการก้าวขึ้นมาเป็น Networker โดยนับมาถึงจุด mile stone ว่าเราได้ cert ccna มาไว้ในมือแล้วนะครับ ถัดจากนี้ผมขอติดไว้ก่อนแล้วเดี๋ยวกลับมาเล่าต่อว่า ควรทำตัวอย่างไรต่อ ควรหางานแบบไหน ควรเลี่ยงงานแบบไหน เพื่อให้เส้นทางไปสู่ Networker นั้นตรงมากที่สุด

เครดิต www.compspot.net ,www.thaiadmin.org